เป็นวันที่ข้าพเจ้าไม่อาจพูดได้ว่า
วันศุกร์แล้ว
มีความสุขจริง ๆ
ข้าพเจ้าพูดได้เพียงว่า
วันศุกร์ ก็เหมือนวันอื่น ๆ
ชีวิตการทำงานที่ไม่ได้มีวันหยุดจริงจังอะไรนัก
เป็นชีวิตที่ไปเรื่อย ๆ ของมันดีเหมือนกัน
แม้บางคนอาจจะคิดว่าเป็นการทำงานที่หนักเกินไปหรือป่าว
กับการทำงานทุกวัน
หรือกับการหยุดแค่หนึ่งวันต่อสัปดาห์
แท้จริงแล้วเราไม่ได้ทำงานหนักเลย
มีดารานักแสดง คนหาเช้ากินค่ำ แม้กระทั่งนักธุรกิจ
หรือ มนุษย์จำพวกอื่น ๆ อีกมากที่ต้องทำงานทุกวัน
แม้งานประจำจะหยุดสัปดาห์ละหนึ่งวัน
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าข้าพเจ้าจะมีวันหยุด
เพราะวันหยุดก็ต้องทำงานอย่างอื่น
หาได้หยุดจริง ๆ ไม่
สรุปข้าพเจ้าต้องทำงานเจ็ดวันต่อสัปดาห์
สามสิบวันต่อเดือน (บางเดือนก็สามสิบเอ็ด)
สามร้อยหกสิบห้าวันต่อปี
และในความเป็นจริง มารดาข้าพเจ้าก็ทำงานทุกวัน
หากข้าพเจ้าทำงานน้อยกว่ามารดา
ก็ต้องถือว่า อกตัญญู นัก
ข้าพเจ้าได้ทำงานน้อยลงแค่เล็กน้อยในช่วงหกเดือนที่ข้าพเจ้าต้องไปทำงานที่โรงพยาบาลชุมชน
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าข้าพเจ้าทำงานน้อยลงอะไรนัก
ข้าพเจ้ายังเป็นมนุษย์บ้างาน
ทำงานทุกอย่างในหน้าที่และนอกเหนือหน้าที่
แต่มีปัญหาอยู่ว่า งานน้อยเกินไปด้วยซ้ำ
การทำงานน้อยทำให้ข้าพเจ้ามีปัญหาในชีวิต
ความจริงข้าพเจ้าค้นพบตัวเองประการหนึ่งคือ
เป็นมนุษย์ที่ทำงานน้อยไม่ได้
ต้องทำงานมาก ๆ
การทำงานน้อยทำให้รู้สึกโหวงเหวงและหงุดหงิดตัวเอง
แต่สิ่งสำคัญที่ต้องหนีออกจาโรงพยาบาลชุมชนเพราะ
ข้าพเจ้าไม่คุ้ยเคยที่จะอยู่บ้าน
บ้านที่มีผู้คนมากมาย
บ้านที่วุ่นวาย
เสียงนั่นนู่นนี่ของชีวิตครอบครัวเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าไม่อยากข้องแวะ
ข้าพเจ้าอยากอยู่เงียบ ๆ คนเดียว
ทำอะไรที่อยากทำ
ไม่ใช่ทำอะไรที่ต้องทำ
และไม่ใช่ทำอะไรที่ถูกบังคับให้ทำ
นักปราชญ์ทั้งหลายไม่ได้กลัวความตาย
แต่นักปราชญ์ทั้งหลายกลัวความเกิด
อันนี้ข้าพเจ้าไม่ได้ตู่เอาโดยถ่ายเดียว
มีถ้อยรับรองจากนักปราชญ์ตัวจริง
และแม้ข้าพเจ้าไม่ใช่นักปราชญ์
ข้าพเจ้าก็กลัวความเกิด
เมื่อปราชญ์ทั้งหลายกลัวความเกิด
จึงต้องทำความเกิดให้หมดสิ้นไปก่อนที่จะตาย
ดังที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ว่า
ตายก่อนตาย
คือทำกิเลสให้ตายไป
ทำกิเลสให้แห้งไป
ทำเชื้อแห่งความเกิดให้สูญสิ้นไปอย่างไม่อาจจะให้เกิดมาได้อีก
ที่เรียกกันว่า นิพพาน
นิพพาน เป็นสภาวะหนึ่ง ที่ดับเย็น
ข้าพเจ้าก็ไม่เคยเห็นนิพพาน
แต่ก็อยากพูดถึงนิพพานบ้างอะไรบ้าง
แม้ในอนุสสติ ๑๐ ก็มี อุปสมานุสสติ
หมายถึง การระลึกถึง นิพพาน นั่นเอง
การนึกถึงนิพพานทำให้จิตเป็นสมาธิได้
เป็นการปลูกฉันทะให้งอกงาม
และเร่งวิริยะให้เจริญ
เหมือนคนเดินทาง
เมื่อนึกถึงจุดหมายปลายทางก็ย่อมมีกำลังใจ
มีความปีติ อิ่มใจ มีความมุ่งมั่นที่จะไปถึงปลายทางให้ได้ ดังนี้
การนึกถึงนิพพานก็มีส่วนคล้ายคลึงกันในขั้นต้น
มีคนเคยถามถึงนิพพานว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร
พระพุทธเจ้าก็ทรงเคยวิสัชนา
ไว้หลายแบบ
ข้าพเจ้ายกมาแบบหนึ่ง ดังนี้
…ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่
อายตนะนั้นไม่มีปฐวีธาตุ
ไม่มีอาโปธาตุ ไม่มีเตโชธาตุ
ไม่มีวาโยธาตุ
ไม่มีอากาสานัญจายตนะ
ไม่มีวิญญาณัญจายตนะ
ไม่มีอากิญจัญญายตนะ
ไม่มีเนวสัญญานาสัญญายตนะ
ไม่มีโลกนี้ ไม่มีโลกหน้า
ไม่มีดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ทั้งสองนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกอายตนะนั้นว่ามีการมา
มีการไป มีการตั้งอยู่ มีการจุติ มีการอุบัติ อายตนะนั้น
ไม่มีที่ตั้งอาศัย ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีอารมณ์ยึดเหนี่ยว
นี้แลคือที่สุดแห่งทุกข์
(ปฐมนิพพานปฏิสังยุตตสูตร, ขุ. อุ. ๒๕/๗๑/๓๒๑–๓๒๒)
เรื่องนิพพานนี้ฝรั่งมังค่าศึกษากันมาก
แต่ชาวพุทธในประเทศไทย ไม่ค่อยศึกษา
รู้แต่ว่านิพพานคือภาวะสิ้นกิเลสเท่านั้น
อีกประการหนึ่งชาวพุทธในไทยมอง(ข้าพเจ้าคิดเอาเอง)ว่า
นิพพานเป็นเรื่องโลกุตร คือ เหนือโลกธรรมดา ๆ ขึ้นไปอีก
เป็นเรื่องของพระเท่านั้น อีกอย่างนิพพานเป็นสภาวะที่ต้องรู้เห็นด้วยตนเอง
ด้วยการปฏิบัติทางจิต
การงมโข่งแบบโง่ ๆ ตามแบบฉบับการวิจัยของฝั่งตะวันตกนั้นเป็นหนทางไปสู่
ความสงสัยไม่รู้จบและเป็นเหตุแห่งความบ้าได้
เพราะในที่สุดก็ไม่มีคำตอบใด ๆ ให้หายสงสัยได้
พระอริยในสมัยปัจจุบันที่ข้าพเจ้าเคยได้ยินได้ฟังได้รับรู้
ที่ท่านเคยพูดถึงสภาวะนิพพาน ก็มี หลวงตามหาบัวองค์หนึ่ง
ท่านบอกว่า ก็คล้าย ๆ กับเราหลับสนิทมาก ๆ ไม่มีความฝันใด ๆ นั่นแหละ
อีกองค์หนึ่งคือหลวงปู่เทสก์ ท่านบอกว่า คล้ายกับสภาวะกลั้นหายใจ
จุดนี้ทำให้คิดไปถึง ความเชื่อสมัยก่อนในเรื่องการบำเพ็ญเรื่องการกลั้นหายใจ
ความเชื่อนั้นเชื่อว่าการกลั้นหายใจทำให้บรรลุธรรมได้
พระพุทธองค์ก็ทรงเคยทดลองแล้ว
เหตุก็คงมาแต่การอนุมานตามสภาวะนี้กระมัง
เอวังแต่เท่านี้ก่อน
ธัชชัย ธัญญาวัลย
24 09 2553
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น