ปีกว่า ๆ
พอ ๆ กับไม่ได้เขียนบันทึกประจำวัน
เมื่อวานเป็นวันมาฆบูชา
ข้าพเจ้าไม่สนใจว่า
โพลล์จะสำรวจว่าเด็กไทยรู้ความสำคัญของวันมาฆบูชากี่เปอร์เซ็นต์ หรือไม่รู้กี่เปอร์เซ็นต์ พอ ๆ กับไม่สนใจว่าปีนี้วัยรุ่นเสียตัวด้วยอายุที่น้อยที่สุดเท่าไหร่
เพราะสมัยข้าพเจ้าเป็นเด็กประถมตัวเล็ก ๆ
ข้าพเจ้าก็ไม่ได้รู้เรื่องเหมือนกัน
และมันก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่รู้เรื่องในวันนั้น
จะไม่รู้เรื่องในวันนี้
ข้าพเจ้าชวนน้องคนหนึ่งซึ่งรู้จักมักคุ้นไปด้วย
และชวนเพื่อนเก่าที่เคยเรียนมาด้วยกันไปด้วย
ทุกอย่างที่ธรรมสถาน จุฬาฯ ก็ยังเหมือนเดิม
เว้นเสียแต่ว่า ไม่มีอาจารย์ระวี มากล่าวนำบูชาเท่านั้น
สมัยก่อน ในวันสำคัญที่มีการเวียนเทียน
อาจารย์ระวีจะเป็นคนกล่าวนำบูชา
"คืนนี้จันทร์เพ็ญ..."
ข้าพเจ้ายังจำได้ถึงเสียงนั้น
การไปเวียนเทียนที่ธรรมสถานทุกครั้ง
ข้าพเจ้าก็จะได้ความรู้ใหม่ ๆ มาทุกครั้ง
แม้จะเป็นการเทศน์เรื่องเดิม ๆ แต่มักจะมีอะไรเพิ่มเติมมานิดหน่อยเป็นเกร็ดความรู้เสมอ
สำหรับท่านที่ไม่เคยไปเวียนเทียนที่ธรรมสถานอาจจะงง
โดยปกติการเวียนเทียนที่ธรรมสถาน จุฬาฯ จะมีกำหนดการดังนี้
๑. สวดมนต์ทำวัตรเย็น ( ปกติเริ่มหกโมงเย็น -ไปบ่อยจนจำได้ ) สวดมนต์พิเศษบางบท เช่น วันมาฆบูชาก็จะเน้นสวดโอวาทปาฏิโมกข์ วันอาสาฬหบูชา ก็สวดธัมมจักกัปปวัฒนสูตร เป็นต้น
๒. ฟังเทศน์จากพระอาจารย์โดยปกติก็เป็นท่านเดิมที่มาจากวัดจากแดง
๓. เวียนเทียน
๔. นั่งสมาธิภาวนา
โดยสรุปถ้าไปเวียนเทียนที่นี่ก็จะได้กระทำบุญทั้งสาม คือ ทาน ( จากการหย่อนตู้บริจาคที่หน้างานเพื่อถวายพระที่นิมนต์มา ) ศีล ภาวนา ครบถ้วน แถมได้ฟังธรรมเป็นเครื่องจรรโลงใจและเปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ ด้วย
หมายความว่าท่านพระอาจารย์มักจะมีเรื่องเกี่ยวกับศาสนาในปัจจุบันมาเทศน์ให้ฟังเสมอ อย่างครั้งนี้ก็มีเรื่องเกี่ยวกับพระพม่า ที่เป็นพระผู้ทรงพระไตรปิฎก หมายความว่า ท่องจำและเข้าใจพระไตรปิฎกได้ทั้งหมด ซึ่งข้าพเจ้าไม่ทราบว่าประเทศไทยมีพระแบบนี้หรือไม่ แต่ที่พม่ามีการเรียนกันเป็นกิจจะลักษณะ และใช้เวลาเรียนกันเป็นสิบปีเลยทีเดียว
โดยถ้าผู้เรียนมีปัญญามากก็จะใช้เวลาประมาณ ๕-๖ ปีเป็นอย่างน้อย แต่ถ้าเป็นผู้มีความเพียรมากไม่เน้นสมบุกสมบันทางปัญญาก็จะใช้เวลา ๑๕ ปี เป็นอย่างน้อย
สรุปแล้วถ้าเปรียบกับหลักสูตรแถว ๆ บ้านเราก็คือ เรียนจบแพทย์ได้สบาย ๆ โดยระยะเวลาเท่ากัน
ประเทศพม่าค่อนข้างเน้นการศึกษาปริยัติธรรมกันมาก หลักสูตรอภิธรรมต่าง ๆ ก็เรียนกันมาก ไม่เหมือนเมืองไทย
ที่เน้นหลักสูตรวัตถุมงคลเป็นหลัก ( ถึงขนาดมีการทำโรงปลอมเหรียญกันเป็นล่ำเป็นสัน ) หวังลาภสักการะเป็นที่พึ่ง
เวียนเทียนเสร็จไปกินข้าวกับเพื่อนเก่าเพื่อนแก่ตั้งแต่สมัยเรียนที่คณะฯ
ตอนนี้มันมาเรียนต่อจัดฟัน พูดคุยกันหลายประเด็น
จนเป็นที่พอใจก็กลับ
ประมาณ ห้าทุ่ม
แวะเข้าห้องน้ำที่ตึกโนเบรน-โนไอเดีย (No Brain-No Idea)
เป็นชื่อที่ข้าพเจ้าตั้งให้มันเอง
เพราะมันเป็นตึกที่ออกแบบได้เห่ยมาก
เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
นอกจากนั้นก็ไม่อะไรเลย
เป็นตึกที่ดูแล้วเสมือนไร้ความคิด
แต่พยายามยัดเยียดว่า
เป็นความเรียบง่าย
สูงสุดคืนสู่สามัญ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่จะสรรหามากลบเกลื่อน
ปกติถ้าคนภายนอกจะไม่รู้ว่าตึกนี้มีห้องน้ำที่สามารถเข้าได้แม้จะดึกเพียงใดและไม่ว่าคุณจะเป็นใคร
เพราะตึกมันไม่ล็อก
แม้คนพื้นถิ่นถ้าไม่เจนจัดก็ยากจะรู้เหมือนกัน
จากนั้นเดินไปเอารถที่คณะ
เป็นทางเดินที่คุ้นเคย ข้าพเจ้าเดินทางนี้มาเป็นระยะเวลาหกปี
เส้นทางไม่เคยเปลี่ยน แต่ลักษณะทางและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน
เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
หอมกลิ่นดอกกาสะลองแผ่ว ๆ
ไม้ผลัดใบหลายต้นแย่งกันผลัดใบจนโกร๋น
ลมหนาวพัดเป็นระยะ ๆ
ท่ามกลางเดือนเพ็ญเต็มดวง
จากไปปีกว่า ๆ เกือบสองปี
ข้าพเจ้ายังรู้สึกคุ้นเคย
ไม่รู้สึกแปลกแยก
ยังรู้สึกเหมือนเมื่อวันวานที่ยังเป็นนิสิต
และยังมุดรั้วเข้าคณะได้เหมือนเดิม
แม้ยามจะพยามยามบอกว่า...ประตูไม่ได้ล็อก 555
ขับรถออกทางอังรีดูนังต์เกลอเก่า
ออกพระรามสี่
ตรงก่อนเข้าเส้นรัชดาฯ ขับรถฝ่าไฟแดงพอเป็นที่ตื่นเต้นสำหรับชีวิตที่ไม่ค่อยสีสันในห้องสี่เหลี่ยม 555 ( ความจริงหยุดไม่ทัน )
บูชาพระบรมสารีริกธาตุที่ห้องด้วยดอกมะลิอันมีกลิ่นหอมยิ่งกว่าบุปผชาติใด ๆ ในโลก
แล้วจึงนอน
แล้วก็ตื่นขึ้นมาในวันนี้
วันนี้เหนื่อยทั้งวัน
คนไข้เยอะมาก
รู้สึกว่า อยู่ไป ๆ คนไข้ก็เริ่มเยอะขึ้นเรื่อย ๆ
จากเดือนที่แล้วที่ยังไม่มาก
ความจริงแถวนี้แม้คนไข้ไม่มากคลินิกก็ยังอยู่ได้
ค่าครองชีพแพงอะไร ๆ ก็ราคาแพง
ไม่เว้นแม้แต่ค่าทำฟัน
เฮ้อ
ธัชชัย ธัญญาวัลย
๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
พรุ่งนี้มีแววว่าจะไปศรีราชา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น