เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
ไปงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์
หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า
"งานบอล"
ครั้งนี้จัดเป็นครั้งที่ ๖๘
จุฬาฯ เป็นเจ้าภาพ
ความจริงข้าพเจ้าก็ไม่ค่อยรู้หรอกว่า
ปีไหนใครเป็นเจ้าภาพ
จะรู้ก็ต่อเมื่อ
ไปเห็นว่า
ใครนั่ง stand ฝั่งไหน
ความจริงข้าพเจ้าก็ไม่ค่อยได้อินังขังขอบกับงานบอลนี่ซักเท่าไหร่
บางปีก็ไป
บางปีก็ไม่ไป
ข้าพเจ้าคิดว่า
ข้าพเจ้าเคยเล่าเรื่อง อ้วก ใส่สนามกีฬาแห่งชาติ
อันเนื่องมาแต่งานบอลนี้ไว้แล้ว
ปีไหนอยากไปก็ไป
ปีไหนไม่อยากไปข้าพเจ้าก็นอนเล่นอยู่หอ
ฟังเสียงเขาบูมอยู่บนหอนั่นแหละ
ข้าพเจ้าไม่ค่อยมีจิตอาสาเท่าไหร่นัก
มีแต่จิตอยากทำ กับ ไม่่อยากทำ
อยากทำก็ทำ
ไม่อยากทำก็ไม่ทำ
เป็นเพราะอะไรดลบันดาลก็ไม่ทราบ
ทำให้ข้าพเจ้าได้ไปนั่งเกาะติดขอบสนามในงานบอล
ไม่เคยทำอย่างนี้มาก่อน
ไปถ่ายรูป
ความจริงก็เป็นความฝันอย่างหนึ่งของข้าพเจ้า
หมายถึงการเป็นนักถ่ายภาพ
ไม่ได้หมายถึงการไปเกาะติดขอบสนามงานบบอล
ถ่ายรูปเป็นสิ่งสนุก
มันสนุกพอ ๆ กับการเขียนหนังสือ
แต่แทนที่เราจะเล่าเป็นตัวหนังสือ
เราเล่าเป็นรูปภาพ
อีกอย่าง
กล้องดี ๆ
ทำให้เราสร้างสรรค์จินตนาการได้ไม่รู้จบ
จะถ่ายอะไรก็ได้
ถ่ายยังไงก็ได้
ถ้าเราเข้าใจมันดีพอ
งานบอลเป็นที่ถกเถียงกันไม่สิ้น
เรื่องตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
ข้าพเจ้าไม่เห็นว่าควรจะไปเถียงอะไรเรื่องนี้กันนัก
ถ้าจะด่า
ก็ด่ากันตั้งแต่แรกมีไปเลยสิ
กระสันอยากเตะบอลกัน
พอมันเติบโต
มันออกลูกออกหลาน
แล้วบังเอิญลูกหลานมันมีชื่อเสียงกว่าพ่อแม่ปู่ย่าตายาย
บางคนก็เลยทนไม่ได้
อยากกลับไปสู่รากเหง้า
ซึ่งเป็นความเพ้อฝันตามแบบลัทธิสุขอนุรักษ์นิยมอย่างยิ่ง
พูดถึงงานบอลเราไม่พูดถึงอะไรมากไปกว่า
ใครเป็นหลีด
ใครเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว
ขบวนล้อการเมืองล้อเรื่องอะไรบ้าง
มีการปะทะฝีปากจากการแปรอักษรว่าอย่างไร
แต่ไม่มีใครสักเท่าไหร่
ที่รู้ว่า
นักฟุตบอลมีใครบ้าง
เรารู้แค่ว่า ใครชนะ
และผู้ทำประตูได้
ก็ดูมีมีชื่อที่เลือนรางเหลือเกิน
จนไม่แน่ใจว่า
คนเขาจำชื่อผู้อัญเชิญพระเกี้ยว
หรือชื่อเชียร์หลีดเดอร์
ได้มากกว่านักฟุตบอลเสียอีก
ฟัง ๆ ไปก็ดูเหมือนกับการ...
การเตะฟุตบอลเป็นเพียงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งเท่านั้น
มีไปงั้น ๆ
มีไว้เพื่อรักษาประเพณี
สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องการหาใช่เรื่องฟุตบอลไม่
แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์กันมากกว่า
ก็ทำไงได้
บอลที่เตะในสนามมันไม่สนุกเท่าคอนเสิร์ตหน้า stand
นักฟุตบอลไม่หล่อเหมือนหลีด
ไม่มีนักฟุตบอลหญิงสวย ๆ
ไม่แสบคันเหมือนขบวนล้อการเมือง
คิดไปคิดมา
ข้าพเจ้านึกไปถึงวรรณกรรม
เราเขียนหนังสือกันขึ้นมา
แล้วก็อ้างวรรณกรรม
อ้างว่างานตัวเองดี
เป็นวรรณกรรมชั้นเลิศ
แต่คนอ่านน้อยนัก
อ่านเมื่อถูกบังคับในโรงเรียน
ในห้องเรียน
ไม่ได้อ่านเพื่อความรื่นรมย์ในเวลาพักผ่อนอยู่ที่บ้าน
แต่งานประเภทที่ถูกค่อนขอดว่า
ขยะวรรณกรรม
ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
ขึ้นอันดับหนังสือขายดีตลอดเวลาไม่ว่างเว้น
หนังสือธรรมะหลับสบาย
นิพพานง่าย ๆ
หรือฮาวทูรวยเร็ว
ก็หมุนเวียนกันอยู่ในหิ้งขายดี
ทิ้งวรรณกรรมไว้ซอกหลืบหนึ่งของร้านหนังสือ
แล้วเรา (หมายถึงพวกชาววรรณกรรม ซึ่งอาจจะหมายถึงข้าพเจ้าด้วย)
ก็ตีฆ้องร้องป่าวว่า
คนไทยไม่อ่านหนังสือ (ที่พวกกูเขียน)
คนอ่านหนังสือน้อย
คนไทยอ่านหนังสือวันละเจ็ดบรรทัด
สรุป
คนไทยโง่
ก็พอ ๆ กับพวกที่รณรงค์
หรือทำตัวเท่ ๆ ว่า
จะไปงานบอลเพื่อดูบอล
ไม่ได้ไปดูหลีดนั่นแหละ
แต่สุดท้ายแท้แล้ว
ก็…
ก็พอ ๆ กับพวกที่ร้องแรกแหกกะเฌอว่า
งานบอลไร้สาระ ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
เอาเวลาไปเสียในสิ่งไม่เกิดประโยชน์นั่นแหละ
และความจริงมันก็ใกล้เคียงกันอย่างนั้น
บางคนทุ่มเทให้กบงานบอลมากกว่าทุ่มเทให้กับการอ่านหนังสือสอบเสียอีก
พอเกรดแย่ก็ปลอบใจตัวเองว่า
เอาน่า
เราเป็นนักกิจกรรม
นักกิจกรรมจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าพวกที่ดีแต่เรียนอย่างเดียว
นักกิจกรรมมีอีคิวดีเลศ
ทำงานเป็น
นั่นนู่นนี่
เฮ้อ
บ่นอะไร
ไปดูรูปงานบอลกันดีกว่า
(รูปไม่ได้แต่ง)
เหมือนปีก่อน ๆ
ฝั่งจุฬาฯ เต็มก่อนธรรมศาสตร์
และธรรมศาสตร์ก็มีข้ออ้างเดิม ๆ
ว่าทำไมเต็มช้า
และปีนี้อาจมีมากกว่าเดิม
แต่เราก็สร้างภาพได้เสมอว่า
เรารักกัน
หลีด(ดูเหมือน)เป็นกลุ่มชนสำคัญที่สุดใน(ขอบ)สนาม
เกาะติดขอบสนาม
บางปีชุดหลีดก็สวย
บางปีก็เห่ย
ดูบอลกันบ้าง
ปีนี้คนมาน้อยกว่าปีก่อน ๆ
สังเกตว่า
ที่นั่งฝั่งตรงข้ามไม่เต็ม
ซึ่งอาจเป็นเพราะแดดร้อนด้วยส่วนหนึ่ง
การดูหลีดเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง
ของงานบอล
และคนส่วนใหญ่ก็ไปเพื่อสิ่งนี้
(อาจรวมถึงข้าพเจ้า 555 )
เดี๋ยวนี้มีการรื้อฟื้นคฑากรขึ้นมาด้วย
ทำให้เราได้มีโอกาสดูคนสวยคนหล่อมากกว่าเดิม
และชนเหล่านี้สบายกว่าหลีด
เดินสวย ๆ ได้ เพราะไม่ต้องเต้น
ให้สัมภาษณ์ได้ เพราะไม่ต้องเต้น
มีเวลาให้ถ่ายรูปได้มากกว่าหลีด
ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวของจุฬาฯ ปีนี้
อยากดูรูปมากกว่านี้
เชิญไปดูที่เฟซบุ๊คข้าพเจ้าเองเถิด
ธัชชัย ธัญญาวัลย
๒๗ ๐๒ ๒๕๕๕
ไม่มีความคิดเห็น:
โพสต์ความคิดเห็น