ซื้อ E-BOOK

Thumbnail Seller Link
การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง
ธัชชัย ธัญญาวัลย
www.mebmarket.com
คุณจะสำรวจลึกลงไปในสิ่งต่าง ๆ ผ่านตัวหนังสือ ผ่านถ้อยคำ ที่กรองประกอบขึ้นเป็นหนังสือเล่มนี้ “การสำเร็จความโง่ด้วยตนเอง” กวีนิพนธ์เชิ...
Get it now

รางวัลซีไรต์

มีเหตุให้ต้องพูดถึงรางวัลซีไรต์


ข้าพเจ้าอ่านหนังสือรางวัลซีไรต์


ตั้งแต่จำความได้


คืออายุประมาณ  ๑๓  ๑๔  ปี


เรื่องแรกที่อ่านคือ  ลูกอีสาน


สมัยนั้นข้าพเจ้าอ่านหนังสือทุกเล่มจากห้องสมุด


ไม่มีหนังสือเป็นของตัวเองเลย


ในยุคที่ข้าพเจ้าเป็นเด็ก  ม.ต้น


จำได้ว่า


เล่มที่อ่านมีดังนี้


ครอบครัวกลางถนน


ขุนทอง...เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง


ตลิ่งสูง  ซุงหนัก


และสุดท้าย  คำพิพากษา






เล่มอื่น ๆ  เป็นการอ่านในยุคที่่ข้าพเจ้าเรียน ม.ปลาย


และเรียนมหาวิทยาลัยแล้วทั้งสิ้น


อันนี้ไม่นับเล่มที่ได้รางวัลหลังข้าพเจ้าเรียนจบ


ข้าพเจ้าก็ติดตามอ่านเรื่อยมา


มีเพียงสองเล่มเท่านั้น


ที่ข้าพเจ้าไม่ได้อ่าน


คือ  ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน


และ  ปูนปิดทอง


ปูนปิดทอง  นั้น  มีเหตุผลว่า


ข้าพเจ้าไม่ชอบอ่านนิยายประเภทนี้


พูดตามตรงข้าพเจ้าไม่เคยอ่านงานของ  กฤษณา  อโศกสิน


หรือ  ทมยันตี  หรือนักเขียนท่านใดในแนวนี้เลย


มีเรื่องเดียวในแนวนี้ที่ข้าพเจ้าอ่านจบ


คือ


แวววัน  ของ  โบตั๋น


ข้าพเจ้ายอมรับว่ามันก็สนุกดี


แต่ดูเหมือนว่า


ข้าพเจ้ามองไม่เห็นความแตกต่างของนิยายเหล่านี้


และไม่คิดว่า


มันมีความท้าทายใด ๆ  ที่่ข้าพเจ้าควรจะสนใจ


และที่แน่ ๆ   


ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ดูถูกรสนิยมของใคร


เพียงแต่ข้าพเจ้าไม่อ่านเท่านั้น






ส่วนประชาธิปไตยบนเส้นขนาน


ข้าพเจ้าไม่อ่าน


โดยไม่มีเหตุผล


ไม่มีเหตุผลจริง ๆ  หรือเป็นด้วยว่า


ข้าพเจ้า  "อิ่ม"


กับ  สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน  ก็เป็นได้


เพราะหลังจากอ่านสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน


ข้าพเจ้าก็ไม่เคยอ่านหนังสือเล่มอื่นของ


วินทร์  อีกเลย


มีเพียงแต่เปิดผ่าน ๆ  บางเล่มเท่านั้น


มันเป็นความเบื่อหน่ายอย่างหนึ่งของข้าพเจ้า






หนังสือซีไรต์ที่ข้าพเจ้าชอบมากที่สุด


หากจะเป็นนิยาย


ก็คือ


คำพิพากษา


ส่วนกวีนิพนธ์นั้น


ข้าพเจ้ายกให้


มือนั้นสีขาว


ในส่วนเรื่องสั้น


ข้าพเจ้าไม่ชอบเล่มใดเลย


อันนี้พูดกันเฉพาะที่เป็นตัวหนังสือ


ไม่พูดถึงเรื่องสั้นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง


คำพิพากษา  นั้น  ไม่ต้องบอกก็รู้กันทั่วไปว่าดีอย่างไร


ส่วน  มือนั้นสีขาว  ข้าพเจ้าชอบในจังหวะ  


มากกว่าจะชอบสิ่งอื่นใด


แน่นอนนี่คือความคิดของข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว


ถามว่าแล้วเล่มอื่น ๆ  เป็นอย่างไรบ้าง


ข้าพเจ้าก็บอกว่าดี


บางเล่มต้องใช้เวลาละเลียดอ่าน


บางเล่มอ่านสองรอบสามรอบจึงจะเข้าใจได้กึ่งหนึ่ง


แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น


ประเด็นคือว่า


เราอยากอ่านหรือเปล่า


อ่านแล้วชอบหรือเปล่า


อ่านแล้วสนุกหรือเปล่า


มันไม่มีค่าอันใด


ถ้าเราอ่านแล้วเราไม่สนุกสนานไปกับมัน


แม้คนอื่นจะบอกว่า


มันดี


มันให้แง่คิด


ข้าพเจ้าอยากรู้นักว่า


ทำไมเราต้องไปคั้นเอาแง่คิดกับวรรณกรรม


ในเมื่อชีวิตของเรานั้น


จะตรึกหาแง่คิดจากอะไรก็ได้ถ้าเราคิดเป็น


จะเป็นเศษหินดินทรายใบไม้ร่วง  


มันก็ให้แง่คิดได้ทั้งนั้นแหละ


ดังนั้น


นี่จึงเป็นคำตอบว่า


มนุษย์เรานั้นจะมีชีวิตอยู่


โดยไม่อ่านหนังสือพวกนี้เลยก็ได้


และชีวิตเราจะสมบูรณ์พร้อมโดยที่ไม่เหลียวมองสิ่งเหล่านี้เลยก็ได้


พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยสอนนี่ว่า


เธอจงเสพวรรณกรรมเถิด


เธอจงละเลียดวรรณกรรมเถิด


วรรณกรรมอันเธอเสพให้มากละเลียดให้มาก


จะทำให้เธอถึงซึ่งพระนิพพาน


ไม่เคยมี








แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น


ข้าพเจ้าก็ไม่ได้บอกว่า


อย่าอ่านหนังสือพวกนี้เลย


ข้าพเจ้าอยากบอกแค่ว่า


อ่านก็ได้


ไม่อ่านก็ได้


อ่านก็ตายตาหลับ


ไม่อ่านก็ตายตาหลับ


เหมือนกัน


เหมือนกับพวกหนังร้อยเรื่องที่ควรดู


อาหารหมื่นอย่างที่ควรกิน


แสนล้านเพลงที่ควรฟัง


หรือพันหนึ่งภาพที่ควรเสพนั่นแหละ


สิ่งเหล่านี้


ไม่ดู  ไม่กิน ไม่ฟัง ไม่เสพ


ก็ไม่มีความหมายอะไรกับเรา


ถ้าเราคิดเป็น


คิดเป็นในที่นี้หมายถึงโยนิโสมนสิการเกี่ยวแก่ชีวิต


อ่านหนังสือมันไม่ได้ทำให้ฉลาดขึ้น


แต่มันทำให้รู้มากขึ้นเท่านั้นเอง


คนเราถ้าเอาแต่อ่านไม่รู้จักวิธีการคิดพิจารณาอย่างแยบคาย


มันก็เท่านั้น


ถ้าไม่รู้จักวิธีปฏิบัติเพื่อญาณคือความรู้ยิ่ง


มันก็เท่านั้น


ถ้าไม่รู้จักวิธีปฏิบัติเพื่อมรรค  ผล  นิพพาน 


มันก็เท่านั้น


แต่นั่นแหละ


นี่ว่ากันโดยแนวทางของพุทธศาสนา


ซึ่งเป็นแนวทางที่ข้าพเจ้าเชื่อมั่น


ศรัทธา


และแนบแน่นในหัวจิตหัวใจ


และคนอื่นไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องตามข้าพเจ้า








ว่ากันในทางโลกียะ


ก็คือ


ใช้ชีวิตตามอัตภาพ


มันก็เท่านั้นเอง


แล้วใครจะรื่นรมย์กับอะไรในชีวิต


ก็เรื่องของใคร


ชอบพอในเรื่องไหน


ก็ดีดดิ้นไป


แล้วก็ไม่ต้องดูถูกรสนิยมของกัน


ไม่ต้องยัดเยียดนั่นนู่นนี่แก่กันและกันจนมันเฝือ


จนมันเลี่ยน


จนมันน่าเบื่อหน่าย








ตารางข้างล่างนี้ข้าพเจ้าเอามาจากเว็บของศูนย์หนังสือจุฬาฯ


เป็นรายชื่อของหนังสือซีไรต์ตั้งแต่เริ่มแรกถึงปี ๕๔


ก็ลุ้นกันว่า


ปี  ๕๕  นี้  เล่มไหนจะเข้าวิน


หึหึ









ปี พ.ศ.
ชื่อหนังสือ
ผู้แต่ง
ประเภท
2554
แดดเช้าร้อนเกินกว่าจะนั่งจิบกาแฟ
  จเด็จ กำจรเดช
เรื่องสั้น
2553
ไม่มีหญิงสาวในบทกวี
  ซะการีย์ยา อมตยา
กวีนิพนธ
2552
ลับแล แก่งคอย
  อุทิศ เหมาะมูล
นวนิยาย
2551
เราหลงลืมอะไรบางอย่าง
  วัชระ สุจจะสารสิน
รวมเรื่องสั้น
2550
โลกในดวงตาของข้าพเจ้า รวมบทกวีร่วมสมัย
  มนตรี ศรียงค์
กวีนิพนธ์
2549
ความสุขของกะทิ
  งามพรรณ เวชชาชีวะ
นวนิยาย
2548
เจ้าหงิญ
  บินหลา สันกาลาคีรี
เรื่องสั้น
2547
แม่น้ำรำลึก
  เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์
กวีนิพนธ์
2546
ช่างสำราญ
  เดือนวาด พิมวนา
นวนิยาย
2545
ความน่าจะเป็น
  ปราบดา หยุ่น
เรื่องสั้น
2544
บ้านเก่า
  โชคชัย บัณฑิต
กวีนิพนธ์
2543
อมตะ
  วิมล ไทรนิ่มนวล
นวนิยาย
2542
สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน
  วินทร์ เลียววาริณ
เรื่องสั้น
2541
ในเวลา
  แรคำ ประโดยคำ
กวีนิพนธ์
2540
ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน
  วินทร์ เลียววาริณ
นวนิยาย
2539
แผ่นดินอื่น
  กนกพงศ์ สงสมพันธุ์
เรื่องสั้น
2538
ม้าก้านกล้วย
  ไพวรินทร์ ขาวงาม
กวีนิพนธ์
2537
เวลา
  ชาติ กอบจิตติ
นวนิยาย
2536
ครอบครัวกลางถนน : สำนึกและอารมณ์ร้าวลึกของคนเมือง
  ศิลา โคมฉาย
เรื่องสั้น
2535
มือนั้นสีขาว
  ศักดิ์สิริ มีสมสืบ
กวีนิพนธ์
2534
เจ้าจันท์ผมหอม : นิราศพระธาตุอินทร์แขวน
  มาลา คำจันทร์
นวนิยาย
2533
อัญมณีแห่งชีวิต
  อัญชัน
เรื่องสั้น
2532
ใบไม้ที่หายไป(ฉบับปรับปรุง)
  จิระนันท์ พิตรปรีชา
กวีนิพนธ์
2531
ตลิ่งสูง ซุงหนัก
  นิคม รายยวา
นวนิยาย
2530
ก่อกองทราย
  ไพฑูรย์ ธัญญา
เรื่องสั้น
2529
ปณิธานกวี
  อังคาร กัลยาณพงศ์
กวีนิพนธ์
2528
ปูนปิดทอง
  กฤษณา อโศกสิน
นวนิยาย
2527
ซอยเดียวกัน
  วาณิช จรุงกิจอนันต์
เรื่องสั้น
2526
นาฏกรรมบนลานกว้าง
  คมทวน คันธนู
กวีนิพนธ์
2525
คำพิพากษา
  ชาติ กอบจิตติ
นวนิยาย
2524
ขุนทอง..เจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง
  อัศศิริ ธรรมโชติ
เรื่องสั้น
2523
เพียงความเคลื่อนไหว
  เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
กวีนิพนธ์
2522
ลูกอีสาน
  คำพู บุญทวี
นวนิยาย


ที่มา  :  http://www.chulabook.com/seawritebooks.asp






ธัชชัย  ธัญญาวัลย
๔  กรกฎาคม  ๒๕๕๕



ไม่มีความคิดเห็น: