มีหลายเรื่องที่จะเล่า
แต่ชักลืมเลือน
เพราะเก็บไว้นานเกินไป
วันนี้ตื่นมาตอนเที่ยงคืน
ไม่อยากนอนต่อ
เมื่อวานทำงานทั้งวัน
วันก่อน
ไปถ่ายรูปรับปริญญาให้น้องที่สนิทกัน
การถ่ายรูปเป็นสิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าโปรดปราน
ถ้าจะให้บอกว่า
มีอะไรในชีวิตนี้ที่ทำจริงจังบ้าง
ถ้าไม่ใช่เขียนหรืออ่านหนังสือ
ก็คือถ่ายรูปนี่เอง
ส่วนดนตรีก็เล่นกิ๊ก ๆ ก๊อก ๆ
พอเพลิดเพลินในบางเวลา
ช่วงนี้ข้าพเจ้าดูหนังบ่อย
เพราะมีเวลาว่างในตอนกลางคืนเยอะ
ทั้งหนังไทยหนังเทศ
จะว่าไปแล้ว
หนังต่างประเทศทำดีกว่าหนังไทย (ที่พวกตลกทำ) มาก
ในทุก ๆ แง่
มันมีอยู่เรื่องหนึ่ง
คือเรื่องฝากของ
ข้าพเจ้ามักห้อยกล้องไปไหนด้วยเสมอ
บางทีก็ใส่กระเป๋ากล้อง ซึ่งใหญ่พอสมควร
วันหนึ่งไปหอศิลป์กรุงเทพ
จะขึ้นไปดูงานชั้นบน ๆ
ยามบอกให้ฝากกระเป๋าก่อน
ข้าพเจ้าและแฟนบอกว่า
เป็นของมีค่า ไม่อยากฝาก
เขาก็บอกไม่ได้
ไม่ได้ก็ไม่ขึ้น
ไม่ดู
จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า
ทำไมหอศิลป์
ต้องห้ามเอากระเป๋าใบใหญ่ (ซึ่งก็ไม่ได้ใหญ่มาก)
ขึ้นไปชั้นบน ๆ (กว่าชั้น ๕)
ข้าพเจ้าท่องเที่ยวไปดูหอศิลป์ของเอกชนในกรุงเทพ
หลายแห่งหลายที่
ไปดูพิพิธภัณฑ์
เขาก็ไม่เห็นห้าม
แถมยังถ่ายภาพได้ด้วย
ที่หอศิลป์กรุงเทพ ห้ามถ่ายภาพ
เข้าใจอะไรเกี่ยวกับศิลปะผิดไปหรือเปล่า
หรือข้าพเจ้าเข้าใจผิดไปเองว่า
นี่คือยุค ๒๐๑๒
หรือว่าหอศิลป์ตั้งอยู่ในเขตเวลาที่เบี่ยงเบน
ไม่แน่มันอาจจะเป็นรากเหง้าที่หลงเหลืออยู่
ของลัทธิอนุรักษ์นิยมคร่ำครึแห่งชาติก็ได้
ที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ถ้าเขาเห็นกระเป๋าใหญ่ ๆ
เขาจะถามว่ามีโน้ตบุคหรือเปล่า
ถ้าตอบว่ามี
เขาจะให้เอากระเป๋าเข้าไปด้วย
โน้ตบุคราคาก็ไม่เท่าไหร่
ที่ข้าพเจ้าใช่อยู่ก็แค่หกเจ็ดหมื่น
แต่กล้องและอุปกรณ์มันมากกว่านั้นอยู่บ้าง
หอศิลป์มีปัญญาชดใช้ค่าเสียหายเท่าไหร่กัน
ถึงกล้าให้ผู้ที่จะเข้าชมงานศิลป์ฝากของมูลค่าเรือนแสนไว้ที่ล็อกเกอร์เส็งเคร็งที่ไม่อาจรับประกันความปลอดภัย
แน่นอนคุณอาจชดใช้เป็นเงินได้
แต่
ของบางอย่าง
มันมีคุณค่าที่ไม่อาจะประเมินได้อยู่ในนั้นด้วย
ถ้าเกิดอะไรขึ้น
มันเอากลับคืนมาได้หรือ
เป็นเพียงคำถาม
และข้าพเจ้าคิดว่า
ไม่ปรารถนาจะได้ยินคำตอบใด ๆ
และนาน ๆ ไป
ข้าพเจ้าก็อาจลืมเลือน
ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้เสียภาษีบำรุงประเทศนี้
ก็ว่าไปอย่าง
หรือว่าศิลปะ ไม่เหมาะแก่ผู้มีข้าวของเยอะ
หรือว่าศิลปะ ไม่เหมาะที่จะให้เอาของมีค่าติดตัวไปเข้าชมด้วยได้
ถ้าทำอย่างนั้นแล้วมันจะชักดิ้นชักงอล้มตายคางานศิลป์
กระนั้นหรือ
หากเป็นเช่นว่า
ข้าพเจ้ายอมตายเสียก็ได้
ถ้าศิลปะถูกจำกัด
มันคงไม่อาจเรียกได้ว่า
เป็นศิลปะ อีกต่อไป
แม้ผู้คนจะเรียกมันว่าอย่างนั้นก็ตามที
ทิวฟ้า ทัดตะวัน
๙ มีนาคม ๒๕๕๕
ไม่มีความคิดเห็น:
โพสต์ความคิดเห็น