ได้หนังสือเล่มนี้ ของ "พี่ชาติ"
เมื่องานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุด
ที่บูธพี่ขจรฤทธิ์ (บ้านหนังสือ)
ความจริงข้าพเจ้าอ่านเล่มนี้จบนานแล้ว
ก่อนที่จะได้เล่มนี้มา
คืออ่านอีกเล่ม
ที่เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒
โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า
ปกฉบับพิมพ์ครั้งแรกนี้
สวยกว่า
นั่นเป็นเหตุว่า
ทำไมข้าพเจ้าต้องซื้อเล่มนี้
มีหนังสือในโลกนี้ไม่กี่เล่ม
ที่ข้าพเจ้าอยากจะ
"สะสม"
เพราะโดยส่วนตัว
ข้าพเจ้าไม่มีแนวความคิดในการสะสมหนังสือ
หนังสือควรเอาไว้อ่าน
และควรให้คนหมู่มากได้อ่าน
ข้าพเจ้าอ่านหนังสือจำพวกนี้แรก ๆ
ก็อ่านจากห้องสมุด
แทบไม่มีหนังสือเป็นของตัวเองเลย
ที่พอมีอยู่บ้าง
ก็คือ
ขโมยห้องสมุดมา (ฮา)
ความจริงข้าพเจ้าก็บ้าของสะสมเหมือนกัน
เคยสะสมขวดแก้ว ครั้งหนึ่ง
เพราะคิดว่า
ไอ้พวกขวดแก้วนี่มันก็แปลกดี
ขวดแต่ละอย่างออกแบบมาไม่เหมือนกัน
สวยงามกันไปคนละแบบ
แท้แล้วข้าพเจ้าไม่ได้อยากสะสมขวดแก้วที่มีเกร่ออยู่ในตลาดนัก
อยากสะสมขวดน้ำหอมมากกว่า
แต่ตอนนั้น
ไม่มีเงิน
ไม่มีเงินนี่ไม่ใช่ไม่มีเงินธรรมดา
แต่มันไม่มีเงินถึงขนาดจะซื้อข้าวแดก ก็ยังไม่มี
แล้วยังเสือกคิดสะสมขวดน้ำหอม
หึ
การสะสมหนังสือเล่มนี้ดีอย่างหนึ่ง
คือมันพิมพ์แค่ สองครั้ง
ไม่ต้องวิ่งไล่ตามมากมายเหมือนเล่มอื่น
ที่พิมพ์สิบครั้งบ้าง ยี่สิบครั้งบ้าง
บางเล่มพิมพ์ไปแล้วเกือบห้าสิบครั้ง
นี่ว่ากันเฉพาะงานของ พี่ชาติ
ข้าพเจ้าก็เลยมีความคิดอยากจะสะสมเล่มนี้แค่เล่มเดียว
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะยึดเอา
ความขี้เกียจเป็นตัวตั้ง
(เงินด้วย -อันนี้สำคัญมาก)
ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน
มีนักเขียนเพียงสองคนเท่านั้น
ที่ข้าพเจ้าอยากอ่านงานทุกเล่มของเขา
คนแรกคือ มูราคามิ
ส่วนคนที่สองก็คือ
พี่ชาติ นี่เอง
หนังสือทุกเล่มของทั้งสองท่าน
อ่านสนุก
เพลิน
อ่านแล้วอยากอ่านต่อ
ไม่ใช่อ่านแล้วอยากวาง
ถ้าถามว่า
ชอบเล่มใดของพี่ชาติมากที่สุด
ก็คงเป็นเล่มนี้
"ลมหลง"
(แน่นอนอยู่แล้ว ไม่งั้นข้าพเจ้าก็คงไม่บ้าซื้อฉบับพิมพ์ครั้งแรกนี่มา)
เนื้อหาและกลวิธีของเล่มนี้
เรียกได้ว่า
บรรเจิด
และยังร่วมสมัยอยู่มาก
ข้าพเจ้าไม่ได้ข้อคิดอันใดจากหนังสือเล่มนี้
(ไม่ใช่หนังสือไม่มีข้อคิด
แต่ข้าพเจ้าขี้เกียจได้
เพราะไม่รู้จะได้ข้อคิดจากการอ่านมาทำซากอะไรนักหนา)
นอกจากความคิดหลังอ่านจบที่แวบเข้ามาเพียงวาบเดียวว่า
ทำไมหนังสือดี ๆ อย่างนี้ถึงพิมพ์แค่สองครั้ง
ทั้งที่เล่มอื่นเป็นเลขสองหลัก
หรือกำลังจะขึ้นสองหลักกันทั้งนั้น
ข้าพเจ้าคิดว่า "ชื่อเรื่อง" มีส่วนสำคัญ หนึ่ง
"ลมหลง"
มันฟังดูโบร่ำโบราณหรือคร่ำครึแปลก ๆ
เรียกง่าย ๆ ว่า
ไม่ดึงดูดใจและสายตาคนรุ่นใหม่
หรือแม้กระทั่งคนรุ่นเก่า
แต่ถ้าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ตั้งชื่อว่า "ลมหลง"
ข้าพเจ้าก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่า
จะตั้งชื่อว่าอะไร
สอง รูปแบบ และกลวิธี
เรื่องนี้ใช้กลวิธี "ภาพยนตร์"
ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่า
ในประเทศนี้
พี่ชาติไม่เป็นรองใครในเรื่องรายละเอียด
ความสร้างสรรค์
และในแง่ของการศึกษาข้อมูลเชิงลึก
เปิดหนังสือผ่าน ๆ แบบผาดเผิน
ข้าพเจ้าคิดว่า
หลายคน
เมิน
เพราะเรื่องนี้ เป็นรูปแบบที่ผิดหูผิดตา
และไม่คุ้นเคย
พาลให้คิดไปก่อนแล้วว่า
อ่านยาก
ทั้งที่จริง
เล่มนี้อ่านแล้ว
สนุกกว่าทุกเรื่องของพี่ชาติก็ว่าได้
(เป็นความเห็นส่วนตัว)
แล้วทำไมหนังสือรูปแบบไม่ชวนอ่าน
(คือชวนให้คิดว่าเข้าใจยาก)
อย่าง
"เวลา"
ถึงได้ขายดี
ไม่ต้องให้กูรูมาตอบกูก็รู้
เพราะมันเป็นหนังสือ "รางวัล"
ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่า
เรื่องนี้พี่ชาติจงใจไม่ส่งประกวด
หรือว่าส่งประกวดแล้วชวดรางวัลกันแน่
แต่ที่แน่ ๆ ข้าพเจ้าคิดว่า
น่าจะเป็นข้อแรก
ไว้โอกาสหน้าถ้าเจอตัวเป็น ๆ อาจจะซักถาม
จากที่กล่าวมาทั้งหมด
ข้าพเจ้าจึงประมวลความคิด
เป็นคำถามน้ำเน่าว่า
วัฒนธรรมการอ่านหนังสือของประเทศไทยนี่
มันเป็นอย่างไรกันแน่
ทำไมหนังสือสนุก ๆ อย่างนี้
กลับไม่มีคนอ่าน
เป็นความผิดของนักเขียน
สำนักพิมพ์
คนออกแบบ
นักการตลาด
นายทุน
รัฐบาล
การศึกษา
หรือเป็นความผิดของใคร
ข้าพเจ้าคงคิดมากเกินไป
มันอาจไม่ใช่ความผิดของใครเลยก็ได้
นั่นสิ
ทำไมเราต้องถามหาคนผิด
ธัชชัย ธัญญาวัลย
๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๕
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น