ว่าด้วยเรื่องศาลาแดงอีกสักครั้ง
ถ้าใครไปแถว ๆ นั้น
หรือแม้กระทั่งนั่งรถผ่าน
หรือนั่งรถไฟฟ้าผ่าน
ก็จะต้องรู้จัก ศาลาแดง
แต่การรู้จักนั้น
เรา ๆ ท่าน ๆ ก็คงงง ๆ ว่า
ไอ้ศาลาแดงที่ว่านี่ มันคืออะไร
อยู่ตรงไหน
มองไปทางไหนก็เห็นแต่ตึก
ไม่เห็นจะมีศาลาแดงอะไรเลยสักนิด
น่าจะชื่อ สถานีสีลม เสียมากกว่า
แต่ก็นั่นแหละ รถใต้ดิน เขาเอาชื่อนั้นไปแล้ว
รู้สึกว่ารถไฟฟ้าบนดินนี้
จะตั้งชื่อแปลก ๆ เหมือนกัน
ก็ไม่รู้ว่าเขาเอาหลักอะไรมาตั้งชื่อสถานี
ความจริงมันก็คงมีหลัก
แต่ข้าพเจ้าขี้เกียจค้น
ก็เลยหาว่ามันแปลกไปอย่างนั้นแหละ
หรือแท้จริงมันอาจจะไม่มีหลักจริง ๆ ก็ได้
สักแต่ว่าตั้งไปงั้น ๆ แหละ
เอาให้คนรู้เท่านั้นก็พอ
ถ้าเราไม่อยู่ข้างบนรถไฟฟ้าแต่เราอยู่ถนน
ก็จะเห็น แยกศาลาแดง เป็นป้ายสีน้ำเงินปักไว้กลางแยกอย่างโดดเดี่ยว
และหาได้มีใครใส่ใจเลยว่า
ศาลาแดงคืออะไร
และมันอยู่ตรงไหน
มีความเป็นมาอย่างไร
พอ ๆ กับ สะพานควาย
ที่มีน้อยคนจะรู้ว่า
มันคืออะไร
ไม่เห็นมีสะพานสักสะพานเดียว
ควายตัวเดียวก็ไม่มีให้เห็น
ว่ากันเรื่องศาลาแดงกันดีกว่า
ศาลาแดงนี้ ความจริงมีหลายกระแส
แต่ที่แน่ ๆ ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า
สมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น มีเจ้าพระยายมราชผู้หนึ่ง
คือท่าน ปั้น สุขุม
ท่านผู้นี้บวชเรียนเป็นเวลานาน ตแกฉานในหนังสืออย่างดียิ่ง
คราวที่พระพุทธเจ้าหลวงส่งเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธฯ (ซึ่งก็คือ ร. ๖)
ไปเรียนที่อังกฤษนั้น ท่านทรงมีพระราชวิตกว่า ทูลกระหม่อมพระองค์นั้น
จะลืมภาษาไทย ก็เลยส่งเจ้าพระยายมราชผู้นี้ไปด้วย เพื่อเป็นพระอภิบาลและถวายพระอักษรภาษาไทย
ที่นี้ก็เนื่องมาแต่ท่านพระยายมราชท่านเป็นข้าราชการเต็มขั้น
ไม่วอกแวกวอแวเอาตำแหน่งไปทำมาหากิน
หรือไปทำมาค้าขายอะไร ๆ เลย
จนตำแน่งสุดท้ายปลายรัชกาลดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงนครบาล
ก็ยังไม่มีบ้านพักเป็นของตัวเอง
ความนี้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระพุทธเจ้าหลวง
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างบ้านพระราชทานเจ้าพระยายมราช
ที่ตำบลศาลาแดง บริเวณโรงแรมดุสิตธานี ในปัจจุบันนี้
แต่กาลเวลาก็ล่วงมานานแล้ว
บ้านนี้ก็ถูกรื้อทิ้งแล้ว แต่ตรงนี้ก็ยังเรียกว่า แยกศาลาแดง
สืบมาจนกระทั่งบัดนี้
ที่ว่ามานี้สืบความตามหนังสือ "ของสวยของดีครั้งแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง"
ของ ศ.(พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ
ต่อไปจะอาศัยความตามเพจ Banyamaracho Suphanburi
ประวัติบ้านศาลาแดง
- บ้านศาลาแดง อยู่บริเวณหัวมุมถนนสีลมด้านที่ตัดกับคลองเตย (คลองวัวลำพอง หรือคลองหัวลำโพง คือ ถนนพระรามที่ 4) เป็นบ้านตึกโอโถงแบบฝรั่ง ออกแบบโดยสถาปนิกชาวต่างประเทศ (สันนิษฐานว่า เป็นคนเดียวกับที่ออกแบบตึกบัญชาการของโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาในปัจจุบัน) รั้วและประตูหน้าต่างเป็นเหล็กดัดที่สั่งจากต่างประเทศ บ้านหลังนี้มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 23 ไร่ 3 งาน 12 ตารางวา มีสนามหน้าบ้านภายในบริเวณมีเรื อนหลายหลัง และมีสระน้ำอยู่ด้านหน้า
- เดิมบ้านนี้เป็นบ้านฝรั่งชื่อกัปตันวอแรน ซึ่งขายต่อให้พระคลังข้างที่ แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เมื่อประมาณ พ.ศ. 2430 ต่อมา เจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯ ได้รับพระราชทานเงินอีกก้อนหนึ่ง จึงซื้อที่ดินเพิ่มเติมจนมีเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ประมาณ พ.ศ. 2440 เจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯ ถวายบ้านคืนแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยตนเองไปซื้อที่ดินและบ้านของพระปร ะมวญ ประมาณพล (ชั้น บุญบัญลือ) ที่บางรัก บ้านหลวงหลังนี้ว่างอยู่จนถึงปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานแก่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และท่านผู้หญิงยมราช (ตลับ สุขุม) บ้านศาลาแดงจึงเป็นที่รู้จักว่าเป็นบ้านของเจ้าพระยายมราช เสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัชกาลที่ 6 ที่ปรึกษารายการแผ่นดินในรัชกาลที่ 7 และหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
- หลังจากการพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยายมราช และท่านผู้หญิงตลับ ที่วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ พ.ศ. 2482 ทายาทได้โอนขายบ้านศาลาแดงแก่กระทรวงการคลัง หลังจากนั้น อาคารในบริเวณบ้านศาลาแดงถูกใช้เป็นที่ทำการสมาคมต่างๆ หลายแห่ง อาทิ แพทยสมาคม สมาคมเภสัชฯ และสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษ
- ต่อมาเมื่อธุรกิจทวีความสำคัญขึ้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงร่วมลงทุนกับเอกชน รื้อถอนอาคารต่างๆ ในบ้านศาลาแดง เพื่อก่อสร้างโรงแรมใหญ่ที่ทันสมัย เมื่อ พ.ศ. 2509 คือ โรงแรมดุสิตธานี ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทยสมัยนั้น เริ่มเปิดดำเนินการ เมื่อ ปี พ.ศ. 2513 และเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของถนนสีลมมาจนถึงปัจจุบัน
อันนี้ก็เป็นประวัติศาลาแดง ดังได้สดับมา
ก็เล่ามาอย่างที่ได้รู้
ผู้ใดมีข้อมูลต่างจากนี้
ก็เก็บเอาไว้
ไม่ต้องเอาเล่าให้ข้าพเจ้าฟังก็ได้
หรือจะเอามาเล่าให้ฟังก็ได้
แล้วแต่อัธยาศัยของท่านเถิด
ที่นี้ส่ิงที่อยากจะพูดต่อไปจากบทเรื่องศาลาแดง
ก็คือ วัฒนธรรมพวกนี้
ทั้งเรื่องการบวชเรียน
การรับราชการ
หรือแม้กระทั่งอะไรต่าง ๆ
ที่มันเป็นฐานราก และฝังแน่นอยู่ในสังคมไทย
มาจนทุกวันนี้
แต่วันนี้เอวังเท่านี้ก่อน
ธัชชัย ธัญญาวัลย
๒๓ มีนาคม ๒๕๕๖
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น