ข้าพเจ้าเดินผ่านสะพานลอยนี้ทุกวัน เมื่อสมัยก่อน
เป็นเวลาเกือบสองเดือน
แรก ๆ ไม่เห็น
แต่พอเดินผ่านไปนาน ๆ
เริ่มสังเกต
ก็เห็น
อีนางสามคนนี่
เป็นสิ่งที่ประทับใจข้าพเจ้า
ด้วยว่า
มันทำให้ข้าพเจ้านึกไปต่าง ๆ
ประการที่ ๑
ใครเอามันมาไว้ที่นี่
ประการที่ ๒
มันคืออะไร สื่อถึงอะไร
ถ้าขยายดูรูปใหญ่ ๆ (คลิกที่รูปได้ครับ)
ก็จะเห็นว่า
บนหัวของทั้งสามมีรูป $ อยู่ด้วย
ทั้งสามคนเกิดจากแบบพิมพ์เดียวกัน
แต่ต่างกัน?
ข้าพเจ้าคิดเพ้อเจ้อไปถึงกระทั่งว่า
ถ้าสะพานลอยคือสะพานข้ามห้วงวัฏฏะ
อีนางสามคนนี่
คืออะไร
ทำไมมันมาดักเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
และบางวัน
เราก็มองไม่เห็นมัน
ทั้งที่มันมีอยู่
เทียบเล่น ๆ
ก็คือ
นางตัณหา นางอรดี และนางราคะ
ซึ่งมารบกวนพระพุทธเจ้า
เมื่อครั้งตรัสรู้นั่นเอง
ดังใน มารธีตุสูตร
ความว่า
"[๕๐๕] ครั้งนั้นแล มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา
จึงพากันเข้าไปหาพระยามารถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจึงถามพระยามารด้วยคาถาว่า
ข้าแต่คุณพ่อ คุณพ่อมีความเสียใจด้วยเหตุอะไร หรือ
เศร้าโศกถึงผู้ชายคนไหน หม่อมฉันจักผูกผู้ชายคนนั้นด้วย
บ่วง คือราคะ นำมาถวาย เหมือนบุคคลผูกช้างมาจากป่า ฉะนั้น
ชายนั้นจักตกอยู่ในอำนาจของคุณพ่อ ฯ
[๕๐๖] พระยามารกล่าวว่า
ชายนั้นเป็นพระอรหันต์ผู้ดำเนินไปดีแล้วในโลก ไม่เป็นผู้
อันใครๆ พึงนำมาด้วยราคะได้ง่ายๆ ก้าวล่วงบ่วงมาร
ไปแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงเศร้าโศกมาก ฯ
[๕๐๗] ครั้งนั้นแล มารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา จึง
พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่าง
นี้ว่า ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจักขอบำเรอพระบาทของพระองค์ ฯ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงใส่พระทัยถึงคำของนางมารธิดาเหล่า
นั้น เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ
[๕๐๘] ลำดับนั้น มารธิดา คือนางตัณหา นางอรดี นางราคา จึง
หลีกออกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วร่วมคิดกันอย่างนี้ว่า ความประสงค์ของ
บุรุษมีต่างๆ กันแล อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรนิรมิตเพศเป็นนางกุมาริกาคน
ละร้อยๆ ฯ
ลำดับนั้น มารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา จึงพากันนิรมิต
เพศเป็นนางกุมาริกาคนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้ว
กราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจะขอบำเรอ
พระบาทของพระองค์ ฯ
พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงใส่พระทัยถึงถ้อยคำของมารธิดา เพราะพระองค์
ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ
[๕๐๙] ลำดับนั้น มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา
พากันหลีกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ร่วมกันคิดอย่างนี้ว่า ความประสงค์ของ
บุรุษมีต่างๆ กัน อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรพากันจำแลงเพศเป็นหญิงยังไม่เคย
คลอดบุตรคนละร้อยๆ ฯ
ลำดับนั้นแล มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา จึง
พากันจำแลงเพศเป็นหญิงยังไม่เคยคลอดบุตรคนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มี-
*พระภาคถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระสมณะ
พวกหม่อมฉันจะขอบำเรอบาทของพระองค์ ฯ
ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึงเลย เพราะพระองค์
ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ
[๕๑๐] ฝ่ายนางตัณหา นางอรดี นางราคา พากันหลีกไป ณ ที่ควร
ข้างหนึ่งแล้ว ร่วมคิดกันอย่างนี้ว่า ความประสงค์ของบุรุษทั้งหลายมีต่างๆ กัน
อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรจำแลงเพศเป็นหญิงที่คลอดบุตรแล้วคราวเดียวคนละ
ร้อยๆ ฯ
ลำดับนั้นแล นางตัณหา นางอรดี นางราคา พากันจำแลงเพศเป็นหญิง
คลอดแล้วคราวเดียวคนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้ว
กราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจะขอบำเรอ
พระบาทของพระองค์ ฯ
ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึง เพราะพระองค์ทรง
น้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ
[๕๑๑] ลำดับนั้นแล นางตัณหา นางอรดี นางราคา ฯลฯ จึงพากัน
จำแลงเพศเป็นหญิงที่คลอดบุตรแล้ว ๒ คราว คนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มี-
*พระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ แม้ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึง
เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ
[๕๑๒] ลำดับนั้น นางตัณหา นางอรดี นางราคา ฯลฯ จึงพากัน
จำแลงเพศเป็นหญิงกลางคน คนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ฯลฯ ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึงเลย เพราะพระองค์
ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ
[๕๑๓] ลำดับนั้น นางตัณหา นางอรดี นางราคา ฯลฯ จึงพากัน
จำแลงเพศเป็นหญิงผู้ใหญ่คนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ
ฯลฯ แม้ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึง เพราะพระองค์ทรง
น้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ
[๕๑๔] ลำดับนั้น มารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา พากัน
หลีกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว จึงพูดกันว่า เรื่องนี้จริงดังบิดาของเราได้พูด
ไว้ว่า
ชายนั้นเป็นพระอรหันต์ ผู้ดำเนินไปดีแล้วในโลก ไม่เป็นผู้
อันใครๆ พึงนำมาด้วยราคะได้ง่ายๆ ก้าวล่วงบ่วงมารไป
ได้แล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงเศร้าโศกมาก ฯ
ก็ถ้าพวกเราพึงเล้าโลมสมณะหรือพราหมณ์คนใดที่ยังไม่หมดราคะ ด้วย
ความพยายามอย่างนี้ หทัยของสมณะหรือพราหมณ์คนนั้นพึงแตก หรือโลหิตอุ่น
พึงพลุ่งออกจากปาก หรือพึงถึงกับเป็นบ้า หรือถึงความมีจิตฟุ้งซ่าน (จิตลอย)
เหมือนอย่างไม้อ้อสดอันลมพัดขาดแล้ว ย่อมหงอยเหงาเหี่ยวแห้งไป แม้ฉันใด
สมณะหรือพราหมณ์นั้นพึงซูบซีดเหี่ยวแห้งไป ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
ครั้นแล้ว นางตัณหา นางอรดี นางราคา พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
[๕๑๕] นางตัณหามารธิดา ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้
กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ท่านถูกความโศกทับถมหรือ จึงได้มาซบเซาอยู่ในป่าอย่างนี้
ท่านเสื่อมจากทรัพย์เครื่องปลื้มใจแล้วหรือ หรือว่ากำลัง
ปรารถนาอยู่ ท่านได้ทำความชั่วอะไรๆ ไว้ในบ้านหรือ
เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ทำมิตรภาพกับชนทั้งปวงเล่า หรือว่า
ท่านทำมิตรภาพกับใครๆ ไม่สำเร็จ ฯ
[๕๑๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
เราชนะเสนาคือปิยรูปและสาตรูป (รูปที่รักและรูปที่พอใจ)
เป็นผู้ๆ เดียวเพ่งอยู่ ได้รู้ความบรรลุประโยชน์ และความ
สงบแห่งหทัย ว่าเป็นความสุข ฯ
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ทำความเป็นมิตรกับชนทั้งปวง และ
ความเป็นมิตรกับใครๆ ย่อมไม่อำนวยประโยชน์ให้แก่เรา ฯ
[๕๑๗] ลำดับนั้น นางอรดีมารธิดาได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ภิกษุในพระศาสนานี้ มีปรกติอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่าง
ไหนมาก จึงข้ามโอฆะทั้ง ๕ แล้ว เวลานี้ได้ข้ามโอฆะที่ ๖
แล้ว กามสัญญาทั้งหลายย่อมห้อมล้อมไม่ได้ซึ่งบุคคลผู้เพ่ง-
ฌานอย่างไหนมาก ฯ
[๕๑๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลมีกายอันสงบแล้ว มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว เป็นผู้ไม่มี
อะไรๆ เป็นเครื่องปรุงแต่ง มีสติ ไม่มีความอาลัย ได้รู้ทั่ว
ซึ่งธรรม มีปรกติเพ่งอยู่ด้วยฌานที่ ๔ อันหาวิตกมิได้ ย่อม
ไม่กำเริบ ไม่ซ่านไป ไม่เป็นผู้ย่อท้อ ฯ
ภิกษุในศาสนานี้ เป็นผู้มีปรกติอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่
อย่างนี้มาก จึงข้ามโอฆะทั้ง ๕ ได้แล้ว บัดนี้ได้ข้ามโอฆะที่
๖ แล้ว กามสัญญาทั้งหลายย่อมห้อมล้อมไม่ได้ ซึ่งภิกษุผู้
เพ่งฌานอย่างนี้มาก ฯ
[๕๑๙] ลำดับนั้นแล นางราคามารธิดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วย
คาถาว่า
พระศาสดาผู้เป็นหัวหน้าดูแลคณะสงฆ์ ได้ตัดตัณหาขาดแล้ว
และชนผู้มีศรัทธาเป็นอันมาก จักประพฤติตามได้แน่แท้
พระศาสดานี้เป็นผู้ไม่มีความอาลัย ได้ตัดขาดจากมือมัจจุราช
แล้ว จักนำหมู่ชนเป็นอันมาก ไปสู่ฝั่งพระนิพพาน ฯ
[๕๒๐] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ตถาคตมีความแกล้วกล้าใหญ่ ย่อมนำสัตว์ไปด้วยพระสัท-
ธรรมแล เมื่อตถาคตนำไปอยู่โดยธรรม ไฉนความริษยา
จะพึงมีแก่ท่านผู้รู้เล่า ฯ
[๕๒๑] ลำดับนั้นแล มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา
พากันเข้าไปหาพระยามารถึงที่อยู่ ฯ
พระยามารเห็นมารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา มาแต่ไกล
ครั้นเห็นแล้ว ได้กล่าวพ้อด้วยคาถาทั้งหลายว่า
พวกคนโง่พากันทำลายภูเขาด้วยก้านบัว ขุดภูเขาด้วยเล็บ
เคี้ยวเหล็กด้วยฟันทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะทำพระโคดมให้
เบื่อเข้าต้องหลีกไป เป็นประดุจบุคคลวางหินไว้บนศีรษะแล้ว
แทรกลงไปในบาดาล หรือดุจบุคคลเอาอกกระแทกตอ
ฉะนั้น ฯ
พระศาสดาได้ขับไล่นางตัณหา นางอรดี และนางราคา ผู้มีรูป
น่าทัศนายิ่ง ซึ่งได้มาแล้วในที่นั้นให้หนีไป เหมือนลมพัด
ปุยนุ่น ฉะนั้น ฯ"
-พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค-
ตัณหา ราคะ นั้นเราน่าจะพอทราบความหมาย
อรดี นั้น หมายความว่าอย่างไร
พจนานุกรม ท่านว่า ความไม่ยินดี ไม่พอใจ
ไม่น่าเชื่อ
จะมีคนเอาชื่อนี้มาตั้งชื่อให้ลูกตัวเอง
แต่ก็อย่างว่า
คนเรามันจะรู้อะไร
เห็นว่าเพราะดี
ก็ตั้ง ๆ ไป
แต่ไม่แน่
พ่อแม่บางคน
อาจจะตั้งไว้เตือนใจตัวเองก็ได้
เผลอ ๆ อาจจะลามปามไปให้เตือนใจลูกอีกทีหนึ่ง
ก็แถกันไป
จบเรื่องนางสามคนบนสะพานลอยแต่เท่านี้
ธัชชัย ธัญญาวัลย
๒๙ มีนาคม ๒๕๕๖
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น